เพราะไม่มีใครรู้ว่า ในช่วงหน้าร้อนที่โรคพิษสุนัขบ้าอาจระบาด ใครจะเคราะห์ร้ายถูกสุนัข หรือสัตว์พาหะกัด-ข่วนเข้าหรือไม่ ดังนั้นการเตรียมรับมือด้วยการเรียนรู้วิธีปฏิบัติเมื่อถูกสัตว์พาหะกัดหรือข่วน จึงเป็นการลดความเสี่ยงที่คุณผู้อ่านพึงรู้
ทันทีที่ถูกกัด ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด พร้อมฟอกสบู่ โดยพยายามล้างให้ลึกเข้าไปในรอยแผล จากนั้นให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% ทำความสะอาดแผลอีกรอบ กรณีมีแผลฉกรรจ์และเลือดออก ควรปล่อยให้เลือดไหลออกไปก่อนระยะหนึ่งเพื่อเป็นการล้างน้ำลายของสัตว์ที่อาจมีเชื้อไวรัส และรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาบาดแผล และรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และป้องกันบาดทะยัก
ขณะที่การสังเกตอาการของสัตว์ที่กัดหรือข่วนว่ามีเชื้อพิษสุนัขบ้าหรือไม่ หากเป็นสัตว์เลี้ยงของตนเองควรกักบริเวณเพื่อดูอาการ 10 วัน หากสัตว์ตัวดังกล่าวตาย ให้ส่งไปชันสูตรภายใน 24 ชั่วโมง โดยสามารถขอคำแนะนำได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หรือปศุสัตว์ในพื้นที่ เนื่องจากการเก็บตัวอย่างของสัตว์ที่ตายแล้วเพื่อส่งตรวจสอบจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง ไม่สัมผัสซากสัตว์หรือของเหลวจากสัตว์โดยตรง มิฉะนั้นผู้ที่ปฏิบัติอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสเรบีส์ ตัวการก่อโรคพิษสุนัขบ้าจะตายลงภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เมื่อถูกน้ำยาฆ่าเชื้อ อาทิ ฟอร์มาลีน แอลกอฮอล์ ทิงเจอร์ไอโอดีน และสบู่ ทั้งนี้คุณผู้อ่านควรรักษาตัวอย่าให้ถูกสัตว์กัด-ข่วน หรือสัมผัสน้ำลายของสัตว์ที่อาจเป็นพาหะนำโรค.
ที่มาข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น