วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

เปิดวิวาทะ"รัฐธรรมนูญ" ไทย-พม่า บริบทประชาธิปไตยที่ต่างกัน

ฮือฮาไม่น้อยเมื่อจู่ๆ นายเนียน วิน โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) อ้างคำพูดของ นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี ที่กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยว่า "รัฐบาลที่ขึ้นมามีอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยทหาร ไม่มีวันที่จะมีเสถียรภาพ โดยไม่ต้องมองไปที่ไหนไกล ให้มองประเทศไทยเป็นตัวอย่าง อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ทหารได้ยึดอำนาจจากผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งและร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ " ทำให้หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงคำพูดดังกล่าวไปต่างๆ นานานั้น

นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาด้านพม่าของกลุ่มฮิวแมน ไรต์ส วอทช์ สำนักงานฮิวแมน ไรต์ส วอชท์ ประจำประเทศไทย ให้ความเห็นถึงกรณีดังกล่าวกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า เป็นการวิเคราะห์ในบริบทรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชน มาจากกระบวนการเลือกตั้ง แน่นอนย่อมมีปัญหา ทำให้สังคมไม่มีเสถียรภาพ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยซึ่งขณะนี้มีการชุมนุมทางการเมือง ทำให้เสถียรภาพรัฐบาลไทยไม่นิ่ง เป็นการมองปัญหาภายหลังจากมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 เป็นลำดับมา

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบระหว่างรัฐธรรมนูญของไทยกับรัฐธรรมนูญของพม่า นายสุนัย มองว่า รัฐธรรมนูญไทยฉบับปี 2550 แม้ว่าผลลัพท์ที่ออกมามีปัญหา พรรคการเมือง หรือคนที่อยู่ในกระบวนการรัฐธรรมนูญเองก็ยอมรับว่ามีปัญหา แต่ก็มาจากความตั้งใจดีส่วนหนึ่ง ส่วนรัฐธรรมนูญของพม่าแม้ฉบับที่เพิ่งผ่านประชามติมานั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่แม้แต่ความตั้งใจดีก็ไม่มีเลย มาจากทหารโดยตรง และเป็นการครองอำนาจอย่างถาวร เพราะฉะนั้นเป็นการตั้งต้นที่ไม่ดี

"หากพูดถึง "ต้นไม้พิษ ลูกไม้ก็เป็นพิษด้วย" กรณีของรัฐธรรมนูญของพม่านั้นเป็นต้นไม้พิษ 100% ฉะนั้นทางพม่าก็จะมีรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา ที่จะทำให้ประเทศก้าวหน้าไม่มีทางเป็นจริง ส่วนกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนุูญของพม่า เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเสียงสนับสนุนของคนที่มาจากกระบวนการเลือกตั้ง จะสู้เสียงของคนที่มาจากการแต่งตั้ง และคนที่เป็นตรายางของคนพม่าไม่ได้ เสียงไม่พอ ส่วนรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไขและผ่านประชามติไปแล้ว ไม่มีความเป็นที่จะได้รับการแก้ไขโดยที่ฝ่ายกองทัพพม่าไม่เห็นด้วย"

นายสุนัย กล่าวว่า ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์นั้น เมืองไทยมีปัญหาในแง่ที่ว่าไทยมีโอกาสที่จะลดเงื่อนไขของความเห็นที่แตกต่าง เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญได้ ด้วยการยอมรับกระบวนการเสนอร่างแก้ไขที่มาจากภาคประชาชน มาจากภาคการเมืองต่างๆ แต่การเมืองไทยแบ่งพวกกันอย่างรุนแรง จนกระทั่งข้อเสนอของฝ่ายหนึ่ง แต่ฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับ ประเทศไทยเองก็ต้องกลับมาทบทวนเปิดใจให้นำความเป็นประชาธิปไตยภายใต้ รัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับ ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกันอย่างจริงจังไม่ใช่มาใช้เพื่อต่อสู้ แย่งชิงอำนาจ และมาฆ่ากันเอง

"เปรียบประชาธิปไตยไทยกับพม่ายังห่างไกลกันเยอะ พม่าเป็นสังคมที่ฝ่ายกองทัพครอบงำอย่างสมบูรณ์แบบ ของคนไทยอย่างน้อยก็มีโอกาสได้เห็นความคิดเห็นที่แตกต่างกัน มันมีพลังที่ออกมาเคลื่อนไหว สื่อถึงแม้ว่าจะถูกปิดไปเยอะในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็จะมีสื่อใต้ดิน เกิดขึ้นได้ คนก็ออกมาแสดงความคิดเห็นได้ ถ้าเป็นพม่ามีการชุมนุมกันอย่างนี้ ก็จะตายกันเป็นเบือ แม้แต่พระสงฆ์ก็จะถูกยิง ของเราถือว่าวิวัฒนาการทางการเมือง สังคม ได้ก้าวไปไกล คนไทยยังโชคดีกว่าคนพม่า
เยอะ ประเทศไทยก้าวพ้นจุดที่ว่ารัฐบาลกับทางฝ่ายกองทัพทำอะไรก็ได้โดยที่ไม่ต้องแคร์" ที่ปรึกษาด้านพม่าของกลุ่มฮิวแมนฯ กล่าว

ด้าน ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์่ว่า การที่พม่าระบุเช่นนี้แสดงว่าไม่ได้เข้าใจถึงบริบทการเมืองไทย เนื่องจากบริบทการเมืองไทยกับพม่านั้น ไม่เหมือนกัน การร่างรัฐธรรมนูญของไทยปี 50 ไม่ได้มาจากฝีมือทหาร จริงอยู่ฝ่ายทหารเป็นคนมอบหมายให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ แต่คนที่ร่างนั้นส่วนใหญ่มาจากฝากฝั่งของพลเรือน และ สาระสำคัญและหลักการเป็นการนำเอารัฐธรรมนูญปี 40 มาปรับปรุงแก้ไข ดังนั้นไม่ใช่เป็นธรรมนูญทหารอย่างที่กล่าว เป็นเพียงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบด้าน เป็นเพียงโวหารทางการเมืองเท่านั้น

"หลักการประชาธิปไตย ไม่ได้ดูเฉพาะเรื่องที่มา ต้องดูถึงค่านิยมในการดำเนินการ ดูสาระเป็นหลักนิติธรม นิติรัฐ การใช้สิทธิเสรีภาพ อย่างทั่วถึงเท่าเทียม ดังนัั้นการที่พม่าปกครองด้วยรูปแบบทหารโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจะมาเปรียบเทียบ โดยให้ดูไทยเป็นตัวอย่างก็เป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ต้องเข้าใจบริบท จารีตการปกครองให้ลึกซึ้ง และเข้าใจปัญหา ต้นตอปัญหามันมาจากการใช้อำนาจ การบิดเบือนและแทรกแซงกระบวนการกฎหมาย ก่อนที่จะมีการปฏิวัติรัฐประหาร จนก่อให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 50 ที่อ้างว่ามาจากทหารเป็นต้นตอของความวุ่นวายนี้"

อย่างไรก็ตาม อธิการบดีนิด้ามองว่า เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นการทำงานของรัฐบาลไทย ในการสื่อสารออกไปยังต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าการทำงานของฝ่ายตรงข้ามมีประสิทธิภาพในการนำเสนอมากกว่า ดังนั้นรัฐบาลต้องเดินหน้าใช้กระบวนการต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้าง เสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติให้ได้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น